ระบบการศึกษาในเยอรมนี

เก๋มานั่งอ่านและเรียบเรียงระบบการศึกษาของเยอรมนี พอดีมีน้องๆสอบถามมาก็เลยอยากรู้เหมือนกัน เพราะจะได้มีข้อมูลไว้ตอบ FP ด้วย

เด็กเล็กๆก่อนอนุบาลหรือเนิสเซอรี่ จะเรียกว่า Kindergrippe ค่ะ อันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการศึกษานะคะ หุหุ

 

ส่วนระบบการศึกษาของเยอรมนี จะมีระดับต่างๆดังนี้ค่ะ

 

1.การศึกษาในวัยก่อนเข้าโรงเรียน

 

โรงเรียนอนุบาล ที่เรียกว่า คินแดร์การ์เท็น (Kindergarten) จะรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 6 ปี การเรียนในระดับนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ จะให้เด็กเข้าเรียนก็ได้ไม่ให้เข้าเรียนก็ไม่เป็นไร

 

2. การศึกษาระดับประถม

เป็นการศึกษาภาคบังคับ เด็กที่อายุครบ 6 ปี จะต้องเข้าเรียนในชั้นประถม ในเยอรมนีเด็กจะต้องเข้าโรงเรียนในเขตที่ตัวเองพำนักอยู่ โรงเรียนประถมเรียกว่า กรุนชูเล (Grundschule) การศึกษาชั้นประถมจะมี 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1ถึงชั้นที่ 4 แต่ในบางรัฐอาจจะรวมเอาชั้นที่ 5 และ 6 อยู่ในระดับประถมด้วย

 

3. การศึกษาระดับมัธยม

โรงเรียนในระดับมัธยมของเยอรมนีจะมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

 

3.1 เฮาพ์ชูเล (Hauptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมที่สอนเน้นความรู้ทั่วไป เช่น ภาษาเยอรมันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศมีตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง 9 เมื่อจบชั้นปีที่ 9 จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น เฮาพ์ชูลอับชลุส (Hauptschulabschluss) สามารถเข้าเรียนต่อด้านอาชีพประเภทช่างหรืออาจจะเรียนต่อชั้นที่ 10 ต่อไปก็ได้ เพราะการเรียนสายอาชีพบางสาขาจะต้องจบชั้นที่ 10

 

3.2 เรอาลชูเล (Realschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเช่นกัน แต่จะมีตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10 วิชาที่เรียนจะมากกว่าโรงเรียนมัธยมแบบเฮาพ์ชูเล เมื่อจบชั้นที่ 10 จะได้ประกาศนียบัตรที่เรียกว่า มิทท์เลเรไรเฟ (Mittlere Reife) และสามารถเรียนต่อสายอาชีพทุกสาขาได้ทันที

 

3.3 กึมนาซิอุม (Gymnasium ) เป็นโรงเรียนมัธยม จะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เซคุนดาร์ชทูเฟ อายส์ (Sekundar Stufe I) และระดับเตรียมอุดมศึกษาที่เรียกว่า เซคุนดาร์ ชทูเฟ ซวาย(Sekundar Stufe II)หรือโอแบร์ชทูเฟ (Oberstufe) ระดับมัธยมตอนต้นเรียนตั้งแต่ชั้นที่ 5

 

ถึง ชั้นที่ 10 ในระดับมัธยมตอนปลายเริ่มจากชั้นที่ 11 ถึง 13 การเรียนจะเน้นทางด้านวิชาการมากกว่า ดังนั้นเด็กที่จะเรียนกึมนาซิอุมควรเป็นเด็กที่เรียนดีพอสมควร เมื่อสำเร็จการศึกษา ก็จะได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียกว่า อบิทัวร์ (Abitur) และสามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษาได้

 

3.4 เกซัมท์ชูเล (Gesamtschule) เป็นโรงเรียนมัธยมประสม คือนำเอารูปแบบโรงเรียนมัธยมทั้งสามแบบที่กล่าวไปแล้วมารวมอยู่ด้วยกันจะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 13 เด็กที่เข้าเรียนที่นี่สามารถที่จะเลือกเรียนชั้นมัธยมรูปแบบหนึ่งในสามแบบจากที่นี่ เมื่อเรียนไปแล้วเห็นว่าไม่เหมาะกับความสามารถของตน ก็อาจที่จะย้ายไปเรียนอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับตัวได้

 

4. การเรียนสายอาชีพ

เรียกว่า เบรุฟเอาส์บิลดุง (Berufsausbildung) การเรียนสายอาชีพนี้ ผู้ที่จะเข้าเรียนได้ต้องมีความรู้จบประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น (Hauptschulabschluss)ซึ่งแล้วแต่สาขาอาชีพที่ต้องการจะเรียน การเรียนแบบนี้เป็นการเรียนควบคือเรียนในโรงเรียนอาชีวะ ที่เรียกว่า เบรูฟชูเล(Berufschule) ซึ่งจะสอนวิชาการและวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ และเรียนภาคปฏิบัติ คือ ฝึกงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานที่รับเป็นผู้ฝึกอบรม การเรียนในสายนี้ผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทหรือห้างร้านที่ไปฝึกงาน การเรียนสายอาชีพนี้จะใช้เวลานานระหว่าง 2 ถึง 3 ปีครึ่ง

 

5. การเรียนระดับอุดมศึกษา

 

ผู้ที่จบ Abitur สามารถที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีการสอบคัดเลือก นอกจากบางสาขาวิชาที่มีคนต้องการเรียนมาก เช่น แพทยศาสตร์ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถที่จะเลือกสมัครสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ ในระดับอุดมศึกษาของเยอรมันนั้น  จะแบ่งได้ประเภทต่างๆดังนี้

 

University  หรือ มหาวิทยาลัยทั่วไป ที่เน้นการเรียนการสอนทางด้านทฤษฏี ในหลักสูตรทางด้าน แพทยศาสตร์, นิติศาสตร์, มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

 

Fachhochschule หรือ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า University of Apply Science เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นในทางปฎิบัติมากกว่าทางทฤษฏี โดยจะสอนเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในอุตสาหกรรม มากกว่าการทำวิจัย

 

มหาวิทยาลัยเทคนิค (Technical Universities) เดิมจะเปิดเฉพาะด้านวิศวกรรม แต่ต่อมาได้เปิดสาขาอื่นๆด้วย  มหาวิทยาลัยที่พี่เก๋เรียนก็จะเป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคเช่นกันค่ะ

 

 - Paedagogische Hochschule หรือ วิทยาลัยครู

 

 - Kunsthochschule (Colleges of Art, Film and Music) หรือวิทยาลัยศิลปะ

 

จริงๆแล้วมีหลายประเภทนะคะ  อ่านมาหลายเวป หลายข้อมูล ถามคนเยอรมันเอง ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไร ก็เอาเป็นข้อมูลเบื้องต้นแล้วกันนะคะ

ส่วนปริญญา หรือหลักสูตรแบ่งตามระดับได้ดังนี้

  • Diplom : หลักสูตรที่เรียนปริญญาตรีควบโท ( Bachelor +Master) ระยะเวลาหลักสูตร 5 ปี
  • Bachelor : หลักสูตรปริญญาตรี ระยะเวลาหลักสูตร 3 ปี
  • Master : หลักสูตรปริญญาโท  ระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี
  • Ph.D. : หลักสูตรด๊อกเตอร์ ระยะเวลาหลักสูตร ไม่มีกำหนดส่วนใหญ่จะเรียนกันที่ 4-6 ปี แต่ที่เห็นพี่ๆคนไทยส่วนใหญ่กว่าจะจบกันก็ประมาณ 5 - 6 ปีค่ะ 

ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาเบื้องต้นในเยอรมนีค่ะ

..............................................

ศศิมา  สุขสว่าง (เก๋)

succeed.sasima@gmail.com

www.succeed-germany.com

https://www.facebook.com/succeed.sasima

Visitors: 82,195